Easy
ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ประสิทธิภาพสูงสุด
E – Easy
ตรงตัวครับ ง่าย
หลายคนน่าจะเคยได้ยิน Work smart not harder หรือ จงทำงานให้ฉลาดขึ้นไม่ใช่หนักขึ้น
บริษัทเราไม่เคยคาดหวังให้พนักงานของเราทำงานหนัก หรือ ทำงานล่วงเวลากันมากๆ เราคาดหวังให้เขาหาวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดที่จะทำให้ผลลัพธ์นั้นออกมา
มีงานวิจัยหนึ่งชื่อว่า “หลักการร๊อคสตาร์” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในปี 1968
งานวิจัยนี้เกิดขึ้นในชั้นใต้ดินแห่งหนึ่ง ในเวลา 6.30น.
โปรแกรมเมอร์ฝึกหัด 9 คน กำลังได้รับโจทย์เหมือนกันที่บรรจุอยู่ในซองสีน้ำตาล ที่บอกเล่าภารกิจ ให้เขียนและแก้ไขข้อบกพร่องของโปรแกรม โดยมีระยะเวลาให้เพียง 120 นาที
สมมติฐานของงานวิจัยในครั้งนี้คาดการณ์ไว้ว่า โปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในกลุ่ม น่าจะทำงานได้ดีราว 2-3 เท่าของ โปรแกรมเมอร์ทั่วๆ ไป แต่ปัญหาคือ ทั้ง 9 คนนั้นฝีมือถือว่าเก่งกันทั้ง 9 คน แล้วผลลัพธ์จะ 2-3 เท่าหรือลดลงกว่านี้กันนะ?
ผลสรุปของงานวิจัยนี้ สรุปให้เห็นว่า โปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในนั้น ทำผลงานได้ดีกว่าโปรแกรมเมอร์คนอื่นแบบทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่น นั่นคือ เขียนโปรแกรมได้เร็วกว่า 20 เท่า แก้ไขจุดบกพร่องได้ไวกว่า 25 เท่า และสั่งการโปรแกรมได้เร็วกว่า 10 เท่า
หลักการนี้สะท้อนให้เห็นอะไร?
สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจะเลือกจ้างคนทำงานระดับที่เก่งทั่ว ๆ ไป 25 คน หรือจะจ้างคนเก่งระดับร๊อคสตาร์ 1 คน เพื่อทำงานนี้ให้เสร็จแม้ค่าจ้างจะสูงกว่า
นอกจากนี้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ทุกๆ วิธีการทำงานที่เราคิดว่ามันง่ายแล้ว หรือสั้นที่สุดแล้ว จะมีใครคนใดคนหนึ่งทำงานได้เร็วกว่าเราอีก อย่างน้อยๆ 2 เท่าแน่นอน
สำหรับความเห็นผมที่คิดว่าเราสามารถทำงานให้ฉลาดขึ้นโดยไม่ต้องหนักขึ้นมี ดังนี้
-
ใช้เวลาจำนวนมากไปกับการวางแผนการทำงาน เพราะมีงานวิจัยหลายฉบับบอกว่า ทุกๆ 20 นาทีของการบริหารเวลา คุณจะประหยัดเวลาไปได้ 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะที่บริษัทเรา เน้นเรื่องการใช้ time blocking เป็นอย่างมาก
-
ตั้งช่วงเวลาห้ามรบกวนเอาไว้ให้กับตัวเอง หรือปิดแจ้งเตือน เพราะ การที่คุณถูกรบกวน 1 ครั้งไม่ว่าจะเป็นการรับโทรศัพท์ หรือไลน์เด้ง อะไรก็ตาม กว่าคุณจะสามารถนำตัวเองกลับมา Focus กับงานเดิมที่ทำอยู่ได้ งานวิจัยโดยมากพบว่าใช้เวลาเพิ่มไปอีก 25% ของงานเดิม หมายความว่าหากงานนั้นใช้เวลา 1 ชั่วโมง คุณอาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 15 นาทีต่อการโดนรบกวน 1 ครั้ง
-
พักบ้าง อย่าทำงานยาว ๆ ติดกัน ร่างกายของมนุษย์ ไม่ได้ถูกดีไซน์มาให้นั่งหน้าคอมตลอด 8 ชั่วโมงการทำงาน คุณต้องมีช่วงเวลาพัก โดยมากผมจะให้ใช้หลัก pomodoro clock หรือการทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยการพักที่ว่าไม่ควรเป็นการจับโทรศัพท์ หรือเช็คเฟซบุ๊ค เพราะร่างกายจะไม่รู้สึกว่าได้พัก แต่การพักที่ว่านั้นเป็นการ เดิน หรือเปลี่ยนอาริยาบท ในการทำงานแทน
-
เลิกทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน มนุษย์ไม่ได้ถูกดีไซน์มาให้ทำแบบนั้น
-
รวมงานที่คล้ายกันเข้าด้วยกัน เพราะ เรามีแนวโน้มที่จะทำงานคล้าย ๆ กันติดกันได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น เอางานที่จะต้องโทรไปขอโทษลูกค้า โทรไปเสนอขายลูกค้า โทรไปอัพเดทงานกับลูกค้า ไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ทำงานเหล่านี้ติด ๆ กัน
-
เปลี่ยนไปใช้ปากกากับกระดาษบ้าง บางครั้งเราติดการทำอะไรที่เป็น อิเล็กทรอนิคอย่างเดียว แต่การใช้กระดาษกับปากกา หลายครั้งก็ช่วยให้เราคิดงานยาก ๆ ออก